เพราะสุนัขในแต่ละช่วงวัยนั้นมีความต้องการและการดูแลที่แตกต่างกัน

  

   จากลูกสุนัข สู่การเป็นสุนัขโตเต็มวัย ผ่านประสบการณ์และช่วงเวลาดีๆ จนกลายเป็นสุนัขสูงวัย ช่วงเวลาที่เปลี่ยนผ่านนี้ ร่างกายสุนัขก็มีการเปลี่ยนแปลงต่างๆ มากมายเช่นกัน แน่นอนว่ารวมถึงเรื่องของสุขภาพด้วย สุนัขในแต่ละช่วงอายุมีโอกาสเป็นโรคของสุนัขที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้นเราจึงควรทราบถึงโรคของสุนัขที่พบบ่อยในสุนัขช่วงวัยต่างๆ เพื่อหาทางป้องกันและรับมือได้อย่างถูกต้อง 

   ในช่วงเป็นลูกสุนัข (อายุตั้งแต่แรกเกิด – 1 ปี) นับว่าเป็นช่วงเวลาที่เสี่ยงที่สุดเพราะว่าลูกสุนัขยังมีภูมิต้านทานต่ำและร่างกายยังไม่เจริญเติบโตเต็มที่ ทำให้มีโอกาสเป็นโรคของสุนัขต่างๆ ได้ง่าย สิ่งสำคัญที่สุดในช่วงวัยนี้คือการฉีดวัคซีนป้องกันตามที่สัตวแพทย์แนะนำให้ครบ เลือกอาหารที่มีสารอาหารครบถ้วนตามที่ช่วงวัยต้องการ และดูแลสุขอนามัยให้สะอาดอยู่เสมอ

   ช่วงสุนัขโตเต็มวัย (อายุ 1 – 6 ปี) เป็นช่วงที่สุนัขเติบโตเต็มที่ทำให้มีร่างกายแข็งแรง ในช่วงนี้โรคที่ต้องระวังเป็นโรคติดต่อต่างๆ ที่มาจากปรสิต เช่น เห็บ หมัด หรือยุง รวมไปถึงโรคติดต่อร้ายแรงจำพวกโรคพิษสุนัขบ้า

   ช่วงสุนัขสูงวัย (อายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป) เป็นช่วงอายุที่ร่างกายสุนัขเริ่มเสื่อมถอยลง อวัยวะต่างๆ ทำงานได้ไม่ดีเหมือนเคย ทำให้สุนัขช่วงนี้มีโอกาสเป็นโรคของสุนัขเกี่ยวกับการทำงานของอวัยวะต่างๆ มากขึ้น ทั้งโรคเกี่ยวกับสมอง ดวงตา หัวใจ ระบบย่อยอาหารและระบบขับถ่ายต่างๆ

   เมื่อทราบถึงแนวโน้มของโรคของสุนัขแต่ละช่วงวัยมีโอกาสเป็นมากที่สุดแล้ว ต่อไปเรามารู้จักโรคที่พบบ่อยในแต่ละช่วงอายุของสุนัขพร้อมแนวทางวิธีป้องกันอย่างได้ผลกันเลย

 

โรคที่พบบ่อยในลูกสุนัข

1. โรคไข้หัดสุนัข (Canine Distemper)

   โรคนี้เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส Canine Distemper Virus (CDV) ถือว่าเป็นโรคติดต่อร้ายแรง มักเป็นมากในสุนัขช่วงอายุ 3-6 เดือน ลูกสุนัขที่ป่วยเป็นโรคไข้หัดสุนัขจะมีอาการไข้สูง ซึม เบื่ออาหาร ตาแดง มีขี้ตาหรือคราบน้ำตาเกรอะกรัง อาจจะมีอาการอาเจียนและท้องเสียร่วมด้วย ถ้าเป็นรุนแรงจะมีอาการทางระบบประสาท เช่น ตัวกระตุก ชัก โดยจุดสังเกตที่เห็นชัดที่สุดคือลูกสุนัขที่เป็นโรคไข้หัดสุนัขนั้น ฝ่าเท้าจะหนาตัวขึ้นกว่าปกติ โดยโรคนี้ติดต่อได้จากการหายใจเอาไวรัสที่อยู่ในอากาศเข้าไป หรือลูกสุนัขสัมผัสกับสิ่งคัดหลั่งของสุนัขป่วย เช่น น้ำมูก น้ำลาย หรือของเสียต่างๆ จากสุนัขป่วย ด้วยความที่ติดเชื้อง่ายผ่านทางอากาศนี้เองทำให้โรคนี้แพร่ระบาดในลูกสุนัขได้ง่ายมากๆ ถ้าไม่ได้รับการฉีดวัคซีนอย่างเหมาะสม

   แนวทางการป้องกันและรักษา : โรคไข้หัดสุนัขไม่มีการรักษาที่เฉพาะเจาะจง แต่แม้ว่าจะเป็นโรคติดต่อร้ายแรง แต่โรคไข้หัดสุนัขนั้นสามารถป้องกันได้ง่ายๆ เพียงแค่ฉีดวัคซีนป้องกัน โดยสามารถเริ่มฉีดได้ตั้งแต่อายุ 6-8 สัปดาห์ตามคำแนะนำของสัตวแพทย์

2. โรคลำไส้อักเสบ (Canine Parvovirus)

   โรคลำไส้อักเสบในสุนัขเกิดจากเชื้อไวรัส Parvovirus สุนัขที่เป็นโรคนี้จะมีอาการที่เห็นชัดคือมีอาการท้องเสียรุนแรง ถ่ายเหลวเป็นน้ำหรือเลือด อุจจาระมีกลิ่นเหม็นมาก โรคนี้เป็นโรคที่ลูกสุนัขเป็นแล้วมีโอกาสเสียชีวิตสูงมาก โรคนี้ติดต่อผ่านทางอุจจาระ และเชื้อที่ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม เช่น พื้นกรง มือคนที่เคยสัมผัสสุนัขที่ติดเชื้อ รวมไปถึงยังติดผ่านลูกสุนัขด้วยกันได้ด้วย ดังนั้นถ้าพบว่าลูกสุนัขเป็นโรคนี้ต้องรีบแยกออกมาให้ห่างจากลูกสุนัขตัวอื่นๆ ให้เร็วที่สุด

   แนวทางการป้องกันและรักษา : เช่นเดียวกับโรคไข้หัดสุนัข โรคลำไส้อักเสบก็ไม่มีการรักษาอย่างเฉพาะเจาะจง แนวทางเดียวที่จะป้องกันโรคนี้ได้คือการฉีดวัคซีนตามโปรแกรมวัคซีนที่สัตวแพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด โดยสามารถเริ่มฉีดได้ตั้งแต่อายุ 6-8 สัปดาห์ตามคำแนะนำของสัตวแพทย์

3. โรคหลอดลมอักเสบติดต่อในสุนัข (Kennel Cough)

   โรคหลอดลมอักเสบติดต่อในสุนัขนั้นมีชื่อเรียกอื่นๆ หลายชื่อ เช่น Infectious tracheobronchitis (ITB), Kennel cough, Canine cough, Canine croup และ Canine Infectious Respiratory Disease Complex (CIRDC) ซึ่งอาการของโรคนี้ลักษณะคล้ายกับโรคหวัดของมนุษย์ ลูกสุนัขที่เป็นโรคหลอดลมอักเสบติดต่อจะมีอาการไอ ซึ่งสามารถเป็นได้ทั้งไอแห้งๆ และไอแบบมีเสมหะ รวมไปถึงอาจจะมีไข้ ซึม และตาแดงร่วมด้วยได้ โรคนี้เกิดขึ้นได้จากไวรัสและแบคทีเรียหลายชนิดร่วมกัน ติดต่อทางละอองน้ำมูกและน้ำลายที่ปนเปื้อนภาชนะและสิ่งแวดล้อมต่างๆ มักพบลูกสุนัขเป็นโรคนี้เมื่อถูกเลี้ยงรวมกันอย่างหนาแน่นมากๆ เช่น ในฟาร์มสุนัข

   แนวทางการป้องกันและรักษา : โรคนี้มีลักษณะคล้ายไข้หวัดคือถ้าเป็นไม่รุนแรง ให้ลูกสุนัขได้พักผ่อน ดื่มน้ำและได้รับอาหารอย่างเพียงพอจะค่อยๆ หายได้เอง แต่ถ้ามีอาการแย่ลงหรือมีอาการปอดบวมร่วมด้วยให้รีบพาไปพบสัตวแพทย์เพื่อรักษาอย่างถูกต้องต่อไป ส่วนแนวทางการป้องกันคือดูแลเรื่องสุขอนามัยและความสะอาดบริเวณที่เลี้ยงลูกสุนัขให้ดี มีอากาศถ่ายเท และไม่เลี้ยงลูกสุนัขรวมกันเป็นจำนวนมากๆ รวมไปถึงโรคนี้สามารถฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันได้ โดยสามารถเริ่มฉีดวัคซีนป้องกันได้ตั้งแต่อายุ 8 สัปดาห์ ตามคำแนะนำของสัตวแพทย์


https://www.proplan.co.th/cat/products

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ดูหนังออนไลน์ ดียังไง

ดูหนังออนไลน์ ดียังไง

พร้อพเพอร์ตี้ โฮม บิลเดอร์ (Property Home Builder) รับสร้างบ้าน ด้วยคุณภาพของแบบบ้านและงานก่อสร้าง